การไกล่เกลี่ย

การไกล่เกลี่ยคืออะไร
การไกล่เกลี่ย คือ กระบวนการยุติหรือระงับข้อพิพาทด้วยความตกลงยินยอมของคู่ความเอง โดยที่มีบุคคลที่สามมาเป็นคนกลางคอยช่วยเหลือแนะนำ เสนอแนะหาทางออกในการยุติหรือระงับข้อพิพาทให้แก่คู่ความ
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาล หมายถึง การที่ผู้ไกล่เกลี่ยทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทซึ่งเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลตั้งแต่ศาลรับฟ้องจนถึงก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้กับคู่ความ เป็นการช่วยให้คู่ความทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกัน แต่ผู้ไกล่เกลี่ยไม่มีอำนาจในการกำหนดข้อตกลงให้แก่คู่ความแต่อย่างใด โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการประนีประนอมยอมความให้จากความสมัครใจของคู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นสำคัญ ดังนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอยกเลิกการไกล่เกลี่ยเสียเมื่อใดก็ย่อมได้

ผู้ไกล่เกลี่ยคือใคร
ผู้ไกล่เกลี่ย หรือบางครั้งเรียกว่า “ผู้ประนีประนอม” ได้แก่ ผู้พิพากษาในศาลต่างๆ ซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน รวมทั้งบุคคลหรือคณะบุคคลที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ย และ แต่งตั้งให้เป็นผู้ประนีประนอมประจำศาล โดยผู้พิพากษาหรือบุคคลดังกล่าวเป็นผู้มีความสนใจมีความพร้อมและสมัครใจที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยซึ่งมีความเป็นกลาง ไม่มีอคติสามารถให้ความเป็นธรรมกับคู่ความ ทุกฝ่ายได้ถูกต้องตรงตามความประสงค์ของคู่ความ ช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่คู่ความทุกฝ่ายและเป็นผู้ช่วยทำให้ข้อพิพาททั้งหลายยุติลงอย่างฉันมิตร ผู้ไกล่เกลี่ยมีหน้าที่ในการช่วยให้คู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงประนีประนอมยอมความกัน ไม่มีหน้าที่ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทหรือคดีระหว่างความแต่อย่างใด ทั้งนี้ การไกล่เกลี่ยในแต่ละคดีความนั้นต้องได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยคดีนั้นโดยท่านผู้พิพากษาหัวหน้าศาลอีกครั้งหนึ่ง

คดีหรือข้อพิพาทที่สามารถไกล่เกลี่ยได้
1. คดีที่มีข้อพิพาททางแพ่งที่มีทุนทรัพย์ทุกคดี สามารถเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยของศาลได้ทั้งสิ้น
2. คดีที่มีข้อพิพาททางอาญาที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่าเป็นความผิดอันยอมความได้เช่น ฉ้อโกง ยักยอก ทำให้เสียทรัพย์ หมิ่นประมาท บุกรุก เป็นต้น


ขั้นตอนการเข้าระบบไกล่เกลี่ย
1. กรณีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนวันนัด
1.1 โจทก์อาจแสดงความประสงค์ต่อศาล เพื่อขอให้ศาลนำคดีเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาลเมื่อโจทก์ดำเนินการยื่นฟ้องคดี หรือจำเลยเมื่อได้รับสำเนาคำฟ้องหรือหนังสือเชิญชวนเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท อาจแจ้งความประสงค์มายังศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับคู่พิพาท
1.2 ภายหลังที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้รับแจ้งความประสงค์ของคู่พิพาทแล้วจะประสานกับคู่พิพาทเพื่อกำหนดนัดวันไกล่เกลี่ยและแจ้งให้คู่พิพาททุกฝ่ายทราบ
2. กรณีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างการพิจารณาคดีของศาล
2.1 คู่ความสามารถขอให้ศาลใช้ระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในเวลาใด ๆ ก็ได้ในระหว่างการพิจารณาคดีหรือศาลอาจเห็นสมควรให้ไกล่เกลี่ยคดีให้อยู่ระหว่างการพิจารณาก็ได้
2.2 ผู้พิพากษาส่งคดีเข้าสู่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำศาลดำเนินการ
2.3 ผู้พิพากษาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยหรือผู้ประนีประนอมประจำศาลซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ขึ้นทะเบียนไว้ดำเนินการไกล่เกลี่ย
2.4 ถ้าตกลงกันได้อาจมีการถอนฟ้อง ถอนคำร้องทุกข์ หรือทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอมไป

 

ข้อดีของการไกล่เกลี่ยหรือประนอมข้อพิพาท
1. สะดวก การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นวิธีระงับข้อพิพาทไม่มีแบบพิธีค่อนข้างจะยืดหยุ่นและรักษาสัมพันธภาพระหว่างคู่พิพาทมากกว่าการพิจารณาคดีตามปกติของศาล
2. รวดเร็ว การไกล่เกลี่ยใช้เวลาในการดำเนินการไม่มากนักก็สามารถที่จะทราบได้ว่าคู่พิพาทจะ ตกลงกันได้หรือไม่อย่างไร หากตกลงกันได้จะทำให้คดีเสร็จสิ้นไปเร็วกว่ากระบวนการปกติ ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ก็จะส่งสำนวนคืนผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน พร้อมแจ้งผลการไกล่เกลี่ยเพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนปกติต่อไป
3. ประหยัดค่าใช้จ่าย การไกล่เกลี่ยใช้เวลาไม่มากนักทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ เช่น ค่าเดินทางมาศาลในแต่ละนัด ค่าป่วยการทนายความ ตลอดจนค่าดำเนินการในชั้นอุทธรณ์ ฎีกา รวมตลอดถึงชั้นบังคับคดี นอกจากนี้การประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้อง หากเป็นคดีแพ่งสามัญ ก็สามารถขอคืนค่าธรรมเนียมศาลเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระทางคดีของคู่พิพาทอีกประการหนึ่ง
4. รักษาสัมพันธภาพระหว่างคู่พิพาท เมื่อคู่พิพาทสามารถตกลงระงับข้อพิพาทกันได้จะทำให้ลด ข้อขัดแย้ง ข้อโต้เถียงระหว่างกัน สามารถอยู่ร่วมกัน ต่อไปซึ่งจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย
5. สร้างความพึงพอใจให้แก่คู่ความ การไกล่เกลี่ยเป็นวิธีการที่ต้องใช้เทคนิคการเจรจาต่อรองให้ ผู้พิพาทยินยอมผ่อนปรน โอนอ่อนผ่อนตามให้แก่กันและกันโดยไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ไม่เหมือนการพิจารณาคดีตามปกติ ไม่มีการชี้ว่าฝ่ายใดถูก ฝ่ายใดผิด ฝ่ายใดแพ้ ฝ่ายใดชนะ อันก่อให้เกิดความรู้สึกเสียศักดิ์ศรี และทำให้ที่พึงพอใจของคู่พิพาท
6. รักษาชื่อเสียงและรักษาความลับทางธุรกิจของคู่พิพาท กระบวนการไกล่เกลี่ยดำเนินการ เป็นความลับ พยานหลักฐาน ข้อมูลที่นำเสนอในชั้นนี้ไม่สามารถนำไปใช้เป็นพยานหลักฐานอ้างอิงในขั้นศาลได้เว้นแก่ผู้พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอม
7. สร้างความสงบสุขให้แก่ชุมชน การไกล่เกลี่ยสามารถทำให้คู่พิพาทกลับไปอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขตลอดจนร่วมกันพัฒนาสังคมของตนต่อไป
8. แบ่งเบาภาระทางคดีของศาล ข้อพิพาทที่สามารถตกลงกันได้ก็สามรถตกลงกันได้ก็จะทำให้คดีไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล คดีเสร็จไปไม่ค้างการพิจารณาเป็นส่วนมาก
9. สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศชาติ เมื่อข้อพิพาทเกิดขึ้นน้อย ปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาลก็ลดลงยังให้งบประมาณในส่วนนี้ลดลง สังคมก็จะอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข สามารถร่วมกันพัฒนาชุมชน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ

ผลที่จะได้รับและประโยชน์
ผลที่คู่ความจะได้รับจากการไกล่เกลี่ย
1. คู่ความสามารถตกลงกันได้ด้วยการถอนฟ้อง
2. คู่ความ สามารถตกลงกันได้โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วขอให้ศาล
มีคำพิพากษาตามยอม
3. คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถอนตัวจากการไกล่เกลี่ยขอให้ดำเนินคดีด้วยวิธีการพิจารณาตามปกติได้เช่นเดิม
4. คู่ความตกลงกันไม่ได้ ศาลก็จะส่งสำนวนไปดำเนินกระบวนการพิจารณาตามปกติประโยชน์ของการไกล่เกลี่ย

 

การไกล่เกลี่ยที่ประสบผลสำเร็จจนคู่ความตกลงประนีประนอมยอมความกันได้เป็นประโยชน์ดังนี้
1. ทำให้คู่ความสามารถหันหน้าเข้าหากันได้อีกอย่างฉันมิตร
2. ในบางกรณีคู่ความสามารถดำเนินธุรกิจติดต่อกันได้อีก
3. ประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีของคู่ความลดลง
4. คู่ความได้รับความพึงพอใจ
5. คู่ความไม่ต้องประสบกับการบังคับคดีที่ยุ่งยากในศาล
6. ช่วยลดปริมาณคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล ทำให้คดีที่ทำการไกล่เกลี่ยและคดีอื่นๆ สามารถย่นระยะเวลาพิจารณาได้เร็วขึ้น
7. ลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
8. ก่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม
9. รัฐประหยัดงบประมาณที่จะต้องใช้ในการจัดให้มีการดำเนินการพิจารณาคดี หรือข้อพิจารณาของประชาชนโดยรวม

การสิ้นสุดการไกล่เกลี่ย
1. เมื่อมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ถอนฟ้อง หรือถอนคำร้องทุกข์
2. เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์ที่จะดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไป
3. เมื่อผู้ไกล่เกลี่ยสั่งให้ยุติการไกล่เกลี่ยเนื่องจากคู่พิพาทไม่สามารถตกลงกันได้

ข้อมูลติดต่อของบริษัททีเอสแอล:

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นขอวีซ่าหรือขอบริการด้านกฎหมาย, กรุณาไปที่หน้าติดต่อเรา

นอกประเทศ: +662-026-1913

ในประเทศไทย: 02-026-1913

อีเมล์:Info@tslthailand.com

How can we help you?

Visit us at our TSL Office in Bangkok or contact us by phone or on-line message at: