อนุญาโตตุลาการ
เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น สิ่งที่คนทั่วไปนึกถึงเป็นอย่างแรก นั่นคือการยุติปัญหาหรือแก้ไขข้อขัดแย้งด้วยการ “ศาล”
ปัจจุบัน “ศาล” ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่ใช้อำนาจเพื่อพิจารณาวินิจฉัยคดีความและมีคำพิพากษาใประเทศไทยมีหลายประเภท ตามระบบของกฎหมายที่กำหนดให้การยุติธรรมของประเทศ มีศาลยุติธรรมและศาลปกครอง เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจเพื่อยุติปัญหาที่เป็นคดีของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งเป็นการยุติธรรมในระบบ “ศาลคู่” ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในทางสากล
และเมื่อความซับซ้อนของปัญหาในสังคมมีมากขึ้น ความหลากหลายของรูปแบบความขัดแย้งนั้น รวมไปถึงความหลากหลายของวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งความหลากหลายดังกล่าวทำให้คู่ขัดแย้งของปัญหาที่มีมากกว่าสองฝ่ายขึ้นไป สามารถเลือกใช้เพื่อให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายให้เป็นผลที่ดีสุด ไม่ว่าจะเป็นทั้งฝ่ายผู้ก่อความเสียหาย ฝ่ายผู้ที่ด้รับความเสียหาย หรือบุคคลทั่วไปที่นับว่าเป็นสาธารณะชน
ในชีวิตประจำวัน เราต่างเกี่ยวข้องกับข้อตกลง หรือ “สัญญา” ที่ก่อให้เกิดความผูกพัน เป็นบ่อเกิดสิทธิและหน้าที่ ให้กับบุคคลที่เข้าตกลงกันปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญานั้น
แต่หากว่ามีคนผิดสัญญาหรือข้อตกลงนั้น หรือกระทำสิ่งต่างๆ ลงไปแล้วก่อความเสียหายให้กับผู้อื่น?ศาลยุติธรรม ในนามของศาลแพ่งเป็นองค์กรที่เป็นกลไกที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า จะสามารถระงับข้อพิพาทต่างๆ และสร้างความเป็นธรรมให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี
ศาลแพ่งซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยในข้อปัญหาซึ่งเป็นคดีความฟ้องร้องกัน เช่น เรื่องการผิดสัญญาทางการค้า การเรียกค่าความเสียหายชดเชยในการไม่ปฏิบัติตามสัญญา การผิดสัญญาไม่ใช้เงินกันตามที่ตกลงกู้กัน เป็นต้น เพื่อให้มีคำพิพากษาที่จะบังคับให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
แน่นอนว่า ทั้งด้วยความซับซ้อนของสภาพสังคมในปัจจุบัน และการติดต่อทำข้อตกลงหรือมีธุรกรรมกันมีหลากหลายรูปแบบ คดีความที่เป็นข้อพิพาทซึ่งต้องหาข้อยุติที่เป็นธรรมนั้น มีเป็นจำนวนมากที่นำเสนอให้ศาลแพ่งพิจารณา และเพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างรอบด้าน ในการรับฟังคู่กรณี การแสดงพยานหลักฐาน การต่อสู้คดีกันในกระบวนพิจารณาคดีที่ศาล การสรุปประเด็นเพื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ที่ต้องทำด้วยความรอบด้านและละเอียดถี่ถ้วน ในบางกรณีจึง “เวลา” ที่ใช้ไปเพื่อแสวงหาความยุติธรรมกับคู่กรณีจึงใช้มากจนเกินไปกว่าที่จะสามารถเยียวยาหรือระงับข้อขัดแย้งไม่ให้เกิดความเสียหายที่ขยายหรือบานปลายออกไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางธุรกิจการค้า ทั้งการค้าในประเทศ และการค้าระหว่างประเทศ
ในข้อพิพาทเรื่องการค้า ที่ “เวลา” ถูกนับเป็น “ต้นทุนราคาแพง” ในการประกอบธุรกิจหรือกิจการในทุกๆ ประเภทนั้น การฟ้องร้องคดีต่อศาลเพื่อให้มีคำพิพากษาจนถึงที่สุด ไม่ว่าจะด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกานั้น อาจช้าเกินไปที่จะขีดวงจำกัดของความเสียหายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นธรรมของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายด้วยกัน
“อนุญาโตตุลาการ” จึงเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทอย่างหนึ่ง ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ มีกฎหมายรับรองและเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่ทั่วโลก หมายถึง กระบวนการยุติธรรมในเกือบทุกประเทศทั่วโลก ยอมรับหลักการว่าเป็นสากลและยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ในการระงับข้อพิพาท ซึ่งมีกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องที่เกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการวางหลักทั่วไปไว้ ทั้งในรูปของอนุสัญญาระหว่างประเทศ และตราสารระหว่างประเทศในชื่อเรียกอื่นๆ
อนุญาโตตุลาการ ในระบบกฎหมายไทยไม่ใช่วิธีการใหม่ แต่เป็นกลไกที่มีอยู่แล้ว ซึ่งกำหนดไว้ตามกฎหมาย คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 210 – 220 และมาตรา 222ทั้งมีกฎหมายอื่นประกอบกัน คือ พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545และพระราชบัญญัติสถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2550
ซึ่งเมื่ออ่านกฎหมายที่กล่าวมาแล้ว ทำให้ได้ข้อสรุปที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายๆ ว่า อนุญาโตตุลาการ เป็นวิธีการระงับข้อพิพาทอย่างหนึ่ง ด้วยการที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย ตกลงร่วมกันว่าเมื่อมีข้อพิพาทขึ้นเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือมีปัญหาในการปฏิบัติตามสัญญาแล้ว จะยินยอมให้มีบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนที่ตกลงเลือกและยอมรับกันเข้ามาเป็นคนกลางที่วินิจฉัยและกำหนดให้บุคคลที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญานั้น
ในการทำสัญญาด้านการค้าไม่ว่าจะเป็นการค้าในประเทศหรือการค้าระหว่างประเทศ คู่สัญญามักกำหนดไว้ในสัญญาไว้ในเรื่องอนุญาโตตุลาการเอาไว้ สำหรับรองรับข้อขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งสามารถยุติได้โดยไม่ต้องนำเป็นคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกหลักในการยุติปัญหาให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่งที่ใช้ระยะเวลาจำกัดและสั้นกว่า เพื่อให้เกิดข้อบังคับขึ้นให้คู่สัญญาปฏิบัติตาม หากยังคงไม่ปฏิบัติตามการเป็นคดีฟ้องร้องกันในศาลแพ่งจึงเป็นกระบวนการในชั้นถัดไปซึ่งถือว่าเป็นทางเลือก
นอกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะกำหนดวิธีระงับข้อพิพาททางแพ่งและพาณิชย์ไว้ พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.๒๕๔๕ และพระราชบัญญัติสถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.๒๕๕๐ จะเป็นรายละเอียดสำคัญเรื่องการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการ รวมถึงการควบคุมกระบวนการและมาตรฐานวิชาชีพกับบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะเป็นอนุญาโตตุลาการหรือเจ้าพนักงงานอื่นในการอนุญาโตตุลาการให้เป็นมาตรฐานและที่ยอมรับในทางสากล และมีพัฒนาการตามระเบียบในทางสากลผ่านแนวปฏิบัติใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเสมอจากอนุสัญญาระหว่างประเทศในเรื่องนี้ ที่ผูกพันกับรัฐที่เข้าตกลงยอมรับและใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการนี้