ภาษีทรัพย์สิน

ภาษีทรัพย์สิน

 

ภาษีทรัพย์สินนี้หมายถึงภาษีที่ประชาชนผู้ครอบครองทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์ (รถ เรือ ฯลฯ) และโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ต้องเสียให้กับท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองโดยตรง ระบบภาษีทรัพย์สินจะทำให้ผู้เสียภาษีเล็งเห็นถึงประโยชน์ของภาษีที่ตนเองจะได้รับ และตระหนักถึงหน้าที่ของตนในการเสียภาษี

ในเมืองเกือบทุกแห่งของประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา ประชาชนต้องเสียภาษีทรัพย์สินเป็นเงินประมาณ 1-2% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ตนเองเป็นเจ้าของ เช่น หากเรามีบ้านราคา 1 ล้านบาทในเขตเทศบาลเมืองคูคต ปทุมธานี เราต้องเสียภาษีทรัพย์สินประมาณ 15,000 บาท หรือ 1.5% โดยภาษีนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อการจัดการศึกษา จัดสร้างสาธารณูปโภค และการพัฒนาอื่น ๆ ในเขตเทศบาลดังกล่าว ภาษีเพียงเท่านี้ก็พอ ๆ กับค่าเก็บขยะ ค่าดูแลทรัพย์สินส่วนกลางเท่านั้น ไม่ได้มากกว่ากันเลย การใช้ภาษีทรัพย์สินยังจะทำให้รัฐบาลยกเลิกภาษีที่ซ้ำซ้อนอื่น คือ ภาษีบำรุงท้องที่

อย่างไรก็ตามในกรณีของประเทศไทย ทางรัฐบาลยังจะลดหย่อนให้มากกว่าในต่างประเทศ เช่น จะจัดเก็บ ณ อัตราเพียง 0.5% สำหรับกรณีเกษตรกรรมยังอาจเป็นเพียง 0.05% ของมูลค่าทรัพย์สิน นอกจากนั้นยังจะจัดเก็บสำหรับทรัพย์สินที่มีมูลค่าตั้งแต่กี่ล้านขึ้นไป (ยังไม่ระบุในขณะนี้) รวมทั้งคาดว่าจะใช้จริงในราวปี 2554 ไม่ใช่ในปัจจุบัน เพราะยังต้องเตรียมการให้เรียบร้อยก่อนนั่นเอง

 

ภาคปฏิบัติของภาษีทรัพย์สิน

ในแต่ละปี เทศบาลหรือ อบต.จะเป็นผู้ประเมินว่าเรามีทรัพย์สินราคาเท่าไหร่ โดยในบางกรณีเจ้าของบ้านอาจให้ทางเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเพื่อประเมินได้ถูกต้องจะได้ไม่เสียภาษีมากหรือน้อยเกินไป หลังจากนั้น เทศบาลก็จะแจ้งราคาทรัพย์สินของเราและอัตราภาษีที่เราต้องเสีย ประเด็นสำคัญอยู่ที่แต่ละเทศบาลต้องทำทะเบียนทรัพย์สินที่จะประเมินและสามารถประเมินให้ทันสมัย ถูกต้องเป็นรายปี เพื่อความเป็นธรรมของผู้เสียภาษี ผู้ที่ไม่ยอมเสียภาษีอาจถูกยึดบ้านมาขายทอดตลาดเพื่อเสียภาษีได้

ภาษีทรัพย์สินนี้อาจยกเว้นหรือเสียแต่น้อยในกรณีที่ดินที่ทำการเกษตร (รายย่อย) ในพื้นที่เกษตรกรรมของผังเมือง (หรือผังชนบท) หรืออาจเป็นที่ดินที่ทำการเกษตรนอกพื้นที่เกษตรกรรมแต่ทำการเกษตรจริงเป็นเวลานานเท่าที่กำหนด เช่น ตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันพวกแสร้งทำการเกษตรบนที่ดินเปล่าเพื่อเลี่ยงภาษี การมีข้อยกเว้นสำหรับที่ดินเพื่อการเกษตรก็เพื่อเป็นการส่งเสริมเกษตรกรไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน แต่สำหรับพื้นที่เกษตรขนาดใหญ่มักไม่มีข้อยกเว้นการเสียภาษี การคำนวณภาษีของที่ดินเพื่อการเกษตรทุกประเภทมักคำนวณจากประโยชน์ที่ที่ดินนั้นได้รับจากสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เป็นต้น

 

 

การเตรียมการระบบข้อมูล

โดยพื้นฐานแล้ว ภาษีทรัพย์สินจะสร้างประโยชน์และความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ไม่เป็นภาระกับใครแต่ช่วยเพิ่มมูลค่า แต่ภาษีทรัพย์สินจะเป็นจริงได้ ก็ต่อเมื่อมีระบบข้อมูลการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ดี ในปัจจุบัน ข้อมูลการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ยังไม่เป็นที่เปิดเผย โดยอ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล แต่เพื่อความโปร่งใส ป้องกันอาชญากรมาฟอกเงิน และเป็นการให้สังคมได้ตรวจสอบการเสียภาษีที่ถูกต้อง ข้อมูลเหล่านี้ควรเปิดเผยให้รู้กันให้แน่ชัดว่ามีการซื้อขายทรัพย์สิน ณ ราคาเท่าไหร่บ้าง

ในความเข้าใจผิดของบุคคลทั่วไป มักเชื่อว่า ราคาซื้อขายที่แจ้ง ณ สำนักงานที่ดินส่วนใหญ่ แจ้งผิดจากความเป็นจริง แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า มีข้อมูลถึงสองในสามแจ้งตามจริง หากข้อมูลมีการเปิดเผย ก็จะผลักดันให้เกิดการแจ้งจริงมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการตั้งราคาซื้อ-ขายทรัพย์สินอย่างเป็นธรรมและอย่างรอบรู้ในหมู่ประชาชน

การที่จะให้ทางราชการประเมินค่าทรัพย์สินทั่วประเทศ คงเป็นได้ยาก และไม่อาจปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ การมีระบบการเปิดเผยข้อมูลซื้อขายทรัพย์สิน จะช่วยให้เกิดการสร้างฐานข้อมูลเพื่อการประเมินค่าทรัพย์สินที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายโดยเฉพาะเพื่อการเสียภาษีทรัพย์สิน

นอกจากนี้รัฐบาลควรมีการตรวจสอบการแจ้งาราคาเท็จ โดยเริ่มต้นที่ทรัพย์สินที่มีราคา เช่น เกินกว่า 5 ล้านบาทก่อน ควรมีมาตรการลงโทษปรับผู้ที่แจ้งราคาที่เป็นเท็จ และควรมีการลดภาษีและค่าธรรมเนียมโอนให้ต่ำเพื่อให้ผู้ที่คิดหลบเลี่ยงภาษี หมดแรงจูงใจที่จะดำเนินการดังกล่าว เพราะรัฐบาลจะได้รับภาษีทรัพย์สินรายปีแทน เป็นต้น

ข้อมูลติดต่อของบริษัททีเอสแอล:

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นขอวีซ่าหรือขอบริการด้านกฎหมาย, กรุณาไปที่หน้าติดต่อเรา

นอกประเทศ: +662-026-1913

ในประเทศไทย: 02-026-1913

อีเมล์:Info@tslthailand.com

How can we help you?

Visit us at our TSL Office in Bangkok or contact us by phone or on-line message at: