ค่าอุปการะบุตรหลังหย่า

ค่าเลี้ยงดูบุตรหลังการหย่า

ดิฉันกับสามีได้หย่าขาดจากกันเพราะเขาไปมีภรรยาใหม่  แล้วตอนที่ไปหย่าเขาสัญญาว่าจะให้ค่าเลี้ยงดูบุตรเดือนละ5,000 บาทโดยไม่รวมค่าเล่าเรียนและจะส่งเสียเลี้ยงดูจนกว่าบุตรจะเรียนจบปริญญาเอก  โดยได้ทำการบันทึกในใบหย่าเป็นหลักฐาน แต่พอหลังจากหย่าเรียบร้อยแล้ว  เขากลับไม่เคยส่งเสียเลยแม้แต่บาทเดียว ทำให้ฉันต้องรับภาระหนักทั้งค่าเล่าเรียนค่าใช้จ่ายในบ้านและที่สำคัญบ้านที่อาศัยอยู่อดีตสามีก็จะให้ย้ายออกไป(เราซื้อผ่อนบ้านเป็นชื่อของอดีตสามีและดิฉันร่วมกันแต่เขาเป็นผู้ผ่อนชำระ) ถ้าหากดิฉันไม่ย้ายออกไปเขาสามารถฟ้องขับไล่เราได้ไหมคะ ดิฉันควรจะทำอย่างไรดีคะกับค่าเลี้ยงดูบุตรและเรื่องที่อยู่อาศัย เราพอจะส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานต้นสังกัดให้เขาหักเงินเดือนได้ไหม (เขาเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีเงินเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 35,000 บาท) เพราะดิฉันเดือดร้อนและไม่รู้จะทำยังไง จึงได้รบกวนขอคำปรึกษาจากคุณทนายนะคะ

คำแนะนำทนายคลายทุกข์
1.มีท่านกับอดีตสามีได้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าอดีตสามี เป็นฝ่ายออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแต่ฝ่ายเดียว ถือว่าสัญญาดังกล่าวที่ได้ทำขึ้นระหว่างท่านกับอดีตสามี เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุตรซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เมื่ออดีตสามีเป็นผู้ผิดสัญญานี้ ท่านในฐานะที่เป็นคู่สัญญาย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกร้องอดีตสามีต่อศาลให้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 374 ,1522
2.บ้านหลังดังกล่าวซึ่งท่านกับอดีตสามีได้ร่วมกันกู้ซื้อมาผ่อนมาในระหว่างสมรสก่อนการหย่า บ้านหลังนี้ย่อมเป็นสินสมรส และเมื่อหย่ากัน กฎหมายกำหนดให้แบ่งสินสมรสที่บ้านนี้ให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากันท่านจึงมีส่วนเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ร่วมกับอดีตสามีครึ่งหนึ่ง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1474(1) , 1533 ดังนั้นอดีตสามีซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของรวม ไม่มีสิทธิจะขับไล่ท่านได้ เขาย่อมใช้สิทธิได้แต่เพียงเรียกให้แบ่งบ้านสินสมรสหลังนี้ระหว่างท่านกับเขาเท่านั้น ซึ่งย่อมเป็นกรณีที่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆมีสิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363
3.ท่านจะต้องฟ้องศาลเรียกให้อดีตสามีจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามสัญญาเสียก่อน และเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้อดีตสามีปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว ท่านย่อมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และหากอดีตสามีไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาท่านก็ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ออกหมายบังคับคดีอายัดเงินเดือนเขาชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป

ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 374  ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้
ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น

มาตรา 1363  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้
สิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินนั้น ท่านว่าจะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้
ท่านว่าเจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้

มาตรา 1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

มาตรา 1522  ถ้าสามีภริยาหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าสามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด
ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด

มาตรา 1533  เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน

ข้อมูลติดต่อของบริษัททีเอสแอล:

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นขอวีซ่าหรือขอบริการด้านกฎหมาย, กรุณาไปที่หน้าติดต่อเรา

นอกประเทศ: +662-026-1913

ในประเทศไทย: 02-026-1913

อีเมล์:Info@tslthailand.com

How can we help you?

Visit us at our TSL Office in Bangkok or contact us by phone or on-line message at: