กฎหมายยาเสพติด

กฎหมายยาเสพติด

 

ปัจจุบันปัญหายาเสพติดได้แผ่ขยายวงกว้างไปทั่วทุกหนแห่ง แพร่กระจายอย่างรวดเร็วราวเกิดโรคระบาด มีการคิดค้นตัวยาแปลกๆออกมาขายกันเกร่อ ก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมทุกด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมครอบครัว มีข่าวการจับกุม ข่าวเภทภัยของยาเสพติดให้เห็นทุกวันทางทีวี หนังสือพิมพ์ แต่เหตุใดยิ่งปราบก็ยิ่งมีมากขึ้นทวีความรุนแรงขึ้นทุกที จึงคิดว่าควรนำเสนอให้เห็นบทกำหนดโทษของกฎหมายยาเสพติดซึ่งไม่ค่อยจะมีใครนำมาเสนอให้อ่านกัน

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ที่ใช้เป็นหลักอยู่ และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาหลายครั้งจนกระทั่งล่าสุดจึงมี พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 เพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ให้เหมาะสมกับปัญหา โดยแก้ไขโทษในความผิดเกี่ยวกับการมีไว้ในครอบครอง มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษจำนวนเล็กน้อยให้มีโทษขั้นสูงลดลง เพื่อให้บุคคลซึ่งต้องหาว่าเสพเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพตาม กฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ 2545 และเพิ่มมาตรการในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษโดยให้มีการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น การให้อำนาจสั่งตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลใดมียาเสพติดให้โทษอยู่ในร่างกายหรือไม่ ฯลฯ

ยาเสพติดให้โทษ หมายถึง สารเคมีหรือวัตถุใดๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะโดยการกิน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยวิธีการใด ๆ แล้วจะทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจ รวมตลอดถึงพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นหรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติด และสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษด้วย

 

ยาเสพติดมีหลายประเภท ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการแบ่งตามกฎหมาย เช่น

  1. พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เช่น แอมเฟตามีน เฮโรอีน LSD ยาอี ฯลฯ
  2. พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 เช่น อีเฟดรีน
  3. พระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ.2533 เช่น ทินเนอร์ กาว แล็กเกอร์

 

1.พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ได้แบ่งยาเสพติดให้โทษออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงมี 38 รายการ เช่น เฮโรอีน แอมเฟตามีน แมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เอ็กซ์ตาซี และแอลเอสดี

ประเภทที่ 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป มี 102 รายการ เช่น ใบโคคา โคคาอีน โคเดอีน ยาสกัดเข้มข้นของต้นฝิ่นแห้ง เมทาโดน มอร์ฟีน ฝิ่นยา (ฝิ่นที่ผ่านกรรมวิธีปรุงแต่งเพื่อใช้ในทางยา) ฝิ่น (ฝิ่นดิบ ฝิ่นสุก มูลฝิ่น)

ประเภทที่ 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นต้นตำรับยาและมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ผสมอยู่ คือ ยารักษาโรคที่มียาเสพติดประเภท 2 เป็นส่วนประกอบอยู่ในสูตร เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ท้องเสีย

ประเภทที่ 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือ 2 มี 32 รายการ เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ อาเซติล คลอไรด์

ประเภทที่ 5 ยาเสพติดให้โทษที่ไม่เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึง 4 มี 4 รายการ คือ กัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น ทุกส่วนของพืชกัญชา ทุกส่วนของพืชกระท่อม และพืชเห็ดขี้ควาย

2.พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518

  1. ห้ามผู้ใด ผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่1 และ 2 นอกจากกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 ขายได้โดยแพทย์ สัตวแพทย์ ทันตแพทย์ เฉพาะผู้ป่วยของตน หรือกระทำโดยกระทรวง ทบวง กรม สภากาชาดไทย องค์การเภสัช หรือสถานที่ที่ราชการกำหนด โทษจำคุก 5 – 20 ปี และปรับ 100,000 – 400,000 บาท
  2. ห้ามผู้ใดผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่3 และ 4 เว้นแต่ได้ขออนุญาตแล้วตามกฎหมายซึ่งต้องมีเภสัชกรเป็นผู้รับผิดชอบควบคุม โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท
  3. ห้ามผู้ใดเสพวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่1 ห้ามผู้ใดเสพวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 เว้นแต่สั่งโดยแพทย์, ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษา ห้ามผู้ใดครอบครองหรือใช้ประโยชน์วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 1-2 โดยมิได้รับอนุญาต โทษจำคุก 1 – 5 ปี และปรับ 20,000 – 100,000 บาท
  4. ห้ามผู้ใดจูงใจ ชักนำ ยุยงส่งเสริมหรือใช้อุบายล่อลวงขู่เข็ญให้ผู้อื่นเสพวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท โทษจำคุก2 – 10 ปี และปรับ 40,000 – 100,000 บาท และถ้ากระทำต่อหญิงหรือบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือจูงใจเพื่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดอาญา หรือเพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในการกระทำผิดอาญา โทษจะเพิ่มขึ้นเป็นจำคุก 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับ 60,000 – 500,000 บาท

 

3.พระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย ปี พ.ศ. 2533

  1. ขายสารระเหยแก่ผู้มีอายุไม่เกิน17 ปี (โดยไม่ใช่นำไปใช้เพื่อการศึกษา) จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. จัดหาหรือขายสารระเหยแก่ผู้ติดสารระเหย เสพสารระเหย ชักจูง หลอกลวง บังคับให้ผู้อื่นเสพสารระเหย จำคุกไม่เกิน2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้สูดดมอายุไม่เกิน 17 ปี ศาลอาจเรียกตัวพร้อมผู้ปกครองมาว่ากล่าวตักเตือน และปล่อยตัวไป แต่ถ้าเห็นว่าเป็นผู้ติดสารระเหยอาจส่งไปบำบัดรักษา ถ้าอายุเกิน 17 ปีและติดสารระเหยด้วย ศาลอาจส่งไปบำบัดรักษาเช่นกัน โดยชดเชยระยะเวลาบำบัดทดแทนค่าปรับหรือการจำคุก การบำบัดรักษาไม่ครบตามกำหนดโดยหลบหนีออกไปจากสถานบำบัด หากถูกจับได้ซ้ำจะได้รับโทษเพิ่มขึ้น

การนำเสนอบทลงโทษตามกฎหมายยาเสพติด หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ในการเตือนให้เห็นว่า การเกี่ยวข้องกับยาเสพติดนั้นมีโทษถึงประหารชีวิตทีเดียว เราจะต้องช่วยกันขจัดยาเสพติดให้สิ้นไป โดยการแจ้งเบาะแสของผู้เสพ ผู้ขาย แหล่งผลิตต่อเจ้าหน้าที่ในการที่จะดำเนินการปราบปราม ทั้งนี้ เพื่ออนาคตของบุตรหลานของเราเอง

ข้อมูลติดต่อของบริษัททีเอสแอล:

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นขอวีซ่าหรือขอบริการด้านกฎหมาย, กรุณาไปที่หน้าติดต่อเรา

นอกประเทศ: +662-026-1913

ในประเทศไทย: 02-026-1913

อีเมล์:Info@tslthailand.com

How can we help you?

Visit us at our TSL Office in Bangkok or contact us by phone or on-line message at: