คดีทางการแพทย์ ฟ้องโรงพยาบาลและแพทย์อย่างไรให้ชนะ เรียกอะไรได้บ้าง ลองดูฎีกาข้างล่างนี้
แพทย์รักษาผิดพลาด ไม่ครบถ้วนตามหลักวิชาชีพเวชกรรม ทำให้คนไข้ตาย ถามว่า ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตอนรักษาเรียกคืนได้หรือไม่ เพราะรักษาไม่หาย
คำตอบ ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามปกติ ไม่ใช่ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายภายหลังกระทำละเมิด คนไข้ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้แพทย์ชดใช้คืนได้ แต่คนไข้ฟ้องเรื่องผิดสัญญาจ้างทำของ เรียกค่าจ้างรักษาคืนได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 587 (เทียบเคียง ฎ.6906/2554)
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
เหตุละเมิดคดีนี้เกิดจากวิธีรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดของฝ่ายจำเลย ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจากการรักษาพยาบาลไม่ครบถ้วนตามหลักวิชาชีพเวชกรรม อันถือได้ว่าเป็นการตายในทันทีจากการทำละเมิด ไม่เข้ากรณีที่มิได้ตายในทันที จึงไม่มีค่ารักษาพยาบาลผู้ตายภายหลังจากผู้ตายถูกทำละเมิดจนถึงเวลาที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันจะเรียกเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสอง ส่วนเงินค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เป็นค่าสินจ้างจากสัญญาจ้างทำของที่โจทก์จ้างให้จำเลยที่ 1 รักษาพยาบาลผู้ตายตามปกติ มิใช่ค่ารักษาพยาบาลที่ได้จ่ายไปภายหลังจากการทำละเมิดจนถึงเวลาที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชดใช้คืนในฐานะเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิด