การหย่าโดยความยินยอม
การหย่าโดยความยินยอม, บันทึกเป็นหนังสือประสงค์หย่าขาด ;การหย่าโดยความยินยอมนั้น สามีภริยาอาจทำบันทึกเป็นหนังสือว่ามีความประสงค์จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน โดยจะไปจดทะเบีนนหย่า ต่อนายทะเบียนกันต่อไป ซึ่งอาจมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขในการจดทะเบียนหย่าก็ได้ กรณีมีเงื่อนไขกำหนดไว้ การจะจดทะเบียนหย่าได้ก็จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขนั้นก่อน
ตราบใดที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ ฝ่ายหนึ่งก็ไม่อาจที่จะบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งจดทะเบียนหย่าได้ นอกจากนี้ยังอาจตกลงบันทึกเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สิน การใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ และการออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวสามีและภริยาต้องลงลายมือชื่อ และมีพยานบุคคลไม่น้อยกว่าสองคนลงลายมื่อไว้เป็นหลักฐานในขณะนั้น จึงจะฟ้องร้องบังคับกันได้ ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้บันทึกกันไว้ภายในกำหนดเวลา10 ปี นับตั้งแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป แต่ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้ว จนกว่าจะได้ไปจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียน
มาตรา 1514 การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หรือโดยคำพิพากษาของศาล
การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน
มาตรา 1515 เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว
มาตรา 1531 การสมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายนั้น การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีผลนับแต่เวลาจดทะเบียนการหย่าเป็นต้นไป
การหย่าโดยคำพิพากษามีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว
การหย่ากันเพราะคู่สมรสฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา หรือภริยามีชู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) และคู่สมรสทั้งสองฝ่ายตกลงหย่าร้างกันเองแล้วไปจดทะเบียนหย่ากันด้วยความสมัครใจ แต่มิได้ตกลงจ่ายเงินค่าทดแทนกันและมิได้มีการฟ้องร้องกันแต่อย่างใด ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนจากคู่สมรสฝ่ายที่อุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือภริยามีชู้ในภายหลังได้
1.1 การหย่าในสำนักทะเบียน
คู่สมรสที่ประสงค์จะหย่าขาดจากกัน สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนหย่า คำร้องแบบ ข.
พร้อมหนังสือสัญญาหย่าต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนสถานเอกอัครราชทูต/
สถานกงสุลไทยในต่างประเทศแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ เมื่อนายทะเบียนตรวจสอบ
เห็นว่าถูกต้องก็จะรับจดทะเบียนให้และออกใบสำคัญการหย่าให้คู่หย่าฝ่ายละ1 ฉบับ
เอกสารที่จำเป็นสำหรับคนไทย
- ทะเบียนสมรส
- บัตรประชาชน
- ทะเบียนบ้าน
เอกสารที่จำเป็นสำหรับชาวต่างชาติ
- ทะเบียนสมรส
- หนังสือเดินทาง
1.2 การหย่าต่างสำนักทะเบียน
กรณีที่คู่สมรสมีความประสงค์จะจดทะเบียนหย่าต่างแห่ง และต่างเวลากัน
ก็ย่อมทำได้โดยต่างฝ่ายต่างไปยื่นคำร้องขอหย่าพร้อมหนังสือสัญญาการหย่า
ต่อนายทะเบียนคนละสำนักทะเบียน คนละเวลา โดยตกลงว่าคู่หย่าฝ่ายใดจะเป็น
ผู้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนหย่าก่อนที่สำนักทะเบียนใด และจะให้สำนักทะเบียน
ใดเป็นผู้จดทะเบียนให้ การหย่าโดยวิธีนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อการจดทะเบียน
แห่งที่สองเรียบร้อยแล้ว
เอกสารที่จำเป็นสำหรับคนไทย
- ทะเบียนสมรส
- บัตรประชาชน
- ทะเบียนบ้าน
เอกสารที่จำเป็นสำหรับชาวต่างชาติ
- ทะเบียนสมรส
- หนังสือเดินทาง
- สำเนาหนังสือเดินทางที่ได้รับการรับรอง
ก่อนการจดทะเบียนหย่า สำหรับชาวต่างชาตินั้น ควรมีการแปลเอกสารที่จำเป็นพร้อมรับรองการแปล ก่อนที่จะยื่นจดทะเบียนหย่า เพื่อให้สามารถแจ้งถึงสถานทูตต่างประเทศในไทยได้
สำหรับชาวไทย ก็จำเป็นต้องแจ้งไปยังสำนักงานอำเภอเพื่อแจ้งการหย่า และสำหรับภรรยาชาวไทยก็จำเป็นต้องดำเนินเรื่องเพื่อเปลี่ยนชื่อเช่นกัน