การเช่าอสังหาริมทรัพย์
ปัจจุบันมีการทำสัญญาเช่าบ้านและอาคาร หรือสถานที่ติดตั้งป้ายโฆษณาหรือแผงสินค้าเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะซื้อทรัพย์สินเป็นของตนเอง ดังนั้น จะทำให้มีกรณีพิพาทเกี่ยวกับการเช่าเป็นจำนวนมากในชั้นศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำหนดระยะเวลาการเช่า การบอกเลิกสัญญาเช่า การเช่าช่วง การทำสัญญาเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย ไม่ยอมเสียค่าธรรมเนียมในการการจดทะเบียน เป็นต้น ทนายคลายทุกข์จึงขอนำตัวอย่างคดีที่พิพาทเกี่ยวกับเรื่องการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านและที่ดิน มานำเสนอต่อท่านผู้อ่านโพสต์ทูเดย์ เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการทำนิติกรรมสัญญาที่เกี่ยวกับการเช่าต่อไป
หลักกฎหมายเกี่ยวกับการเช่า
ป.พ.พ.มาตรา 538 เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี
1.การเช่าช่วง
– เมื่อจำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเช่าช่วงจากโจทก์ แต่ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าช่วงกับโจทก์แต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อของจำเลยผู้เช่า จำเลยจึงไม่อาจยกการเช่าช่วงขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6275/2551)
2.คำมั่นจะให้เช่า
– “ถ้าครบกำหนด 2 ปีตามสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่ามีสิทธิจะเช่าต่ออีก 2 ปีและเมื่อแจ้งความประสงค์ต่อผู้ให้เช่าแล้วผู้ให้เช่าจะปฏิเสธไม่ได้ และเมื่อครบแล้วก็มีสิทธิเช่นนี้ในเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว” (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2490)
– กำหนดเวลาเช่าที่เกินจาก3ปีตามที่ตกลงกันไว้จึงไม่มีผลบังคับกันต่อไปคำมั่นของโจทก์ที่ให้แก่จำเลยไว้ตามสัญญาเช่าข้อ2(ก)ที่ว่าเมื่อจำเลยเช่าครบ7ปียินยอมต่อสัญญาเช่าให้จำเลยอีก 15 ปี ย่อมสิ้นผลบังคับไปด้วยดังนั้นจึงไม่มีคำมั่นของโจทก์ที่จะให้จำเลยสนองต่อไปอีก (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563/2540)
คำมั่นด้วยวาจา
– คำมั่นที่โจทก์จะให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทภายหลังสัญญาเช่าครบกำหนดเวลาแล้วเป็นเพียงคำมั่นด้วยวาจาและอยู่นอกเหนือจากข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิมซึ่งโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ในตึกแถวพิพาทอันเป็นทรัพย์สินที่เช่ามาจากมารดาโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่า แม้จำเลยจะสนองรับคำมั่นนั้นก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าเดิมและเกิดเป็นสัญญาเช่าใหม่ แต่คราบใดที่โจทก์ยังมิได้ทำหลักฐานการเช่าตึกแถวพิพาทใหม่เป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จำเลยย่อมไม่อาจขอให้บังคับโจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่7386/2548)
คำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษร
-สัญญาเช่ามีข้อความว่า ผู้ให้เช่าให้คำมั่นแก่ผู้เช่าว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าตามสัญญาแล้ว ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก 3 ปี ตามเงื่อนไขประเพณีที่ได้กระทำกันในวันทำสัญญานี้ ทั้งนี้ ผู้เช่าต้องแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันสัญญาเช่านี้ครบกำหนด ดังนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่าให้คำมั่นไว้ เมื่อผู้เช่ามีหนังสือแสดงความจำนงขอทำสัญญาเช่าต่อภายในกำหนดเวลา เท่ากับผู้เช่าสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่าแล้ว และถือว่ามีสัญญาเช่าเกิดขึ้นใหม่ทันทีตามเงื่อนไขและประเพณีที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าฉบับเดิม โดยไม่ต้องทำสัญญาเช่ากันใหม่อีก (พิพากษาศาลฎีกาที่ 1925/2517)
การตกลงยกเลิกคำมั่น
-ผู้ให้เช่าไม่อาจถอนคำมั่นนั้นได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ตาม แต่ก็มิได้ห้ามคู่สัญญาในอันที่จะตกลงกันยกเลิกคำมั่นนั้นเสียได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยตกลงยกเลิกข้อความในสัญญาเช่าต่างตอบแทนเกี่ยวกับคำมั่นนั้นเสียแล้ว คำมั่นดังกล่าวย่อมสิ้นผลไป (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3078 – 3079/2552)
3.การทำสัญญาเช่าโดยมีเจตนาเลี่ยงกฎหมาย
จำเลยทำสัญญาเช่าขึ้นพร้อมกัน 2 ฉบับ ลงวันที่ในสัญญา และระยะเวลาที่เช่าติดต่อกันรวมได้กว่า 3 ปี เท่ากับ ทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ติดต่อกันเกิน 3 ปีถ้า ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อม ฟ้องร้องบังคับกันได้เพียง 3 ปีและการฟ้องร้องให้ บังคับคดีดังกล่าวหมายความรวมถึงการที่ยกขึ้นกล่าวอ้างต่อสู้ ให้บังคับคดีไปตามข้อกล่าวอ้างนั้นด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2676/2528)
4.การทำสัญญาเช่ากันใหม่ในขณะที่สัญญาเช่าเดิม ยังไม่สิ้นสุดเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย
ทำสัญญาเช่าที่ดินมีกำหนดเวลา 5 ปี ต่อเจ้าพนักงานกรมการอำเภอหลังจากวันทำสัญญาฉบับแรกได้ 1 ปี คู่สัญญาได้ตกลงกันทำสัญญาเช่าอีกฉบับหนึ่ง มีข้อความว่าเมื่อครบกำหนด 5 ปีแล้วผู้ให้เช่ายอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก 3ปี สัญญาฉบับหลังทำกันเองและเขียนไว้หลังสัญญาฉบับแรกดังนี้ ถือว่าสัญญาเช่าที่ทำกันใหม่เพื่อขยายเวลาเช่าในสัญญาเดิมออกไป รวมกันเป็น 8 ปีนั้น เป็นการหลีกเลี่ยงการไปทำสัญญาเช่า ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อตกลงกันใหม่ จึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ใช้ไม่ได้ (พิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2492)