การสอบทานธุรกิจ
สำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจเลือกอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ ผู้ลงทุนจำเป็นต้องตรวจสอบสินทรัพย์หรือสถานที่ที่ต้องจะลงทุน และทำการสอบทานสิทธิของผู้ก่อตั้งให้แน่ชัดเพื่อเลี่ยงปัญหากรรมสิทธิ์ในอนาคต
ขั้นที่ 1.สินทรัพย์รวม
ขั้นตอนนี้จะช่วยให้เรามองเห็นภาพของบริษัทได้อย่างกว้างๆ ว่า เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่มากน้อยแค่ไหน มูลค่าบริษัทในตลาดจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผันแปรของราคาหุ้น ผู้ถือหุ้นมีมากน้อยแค่ไหน และแนวโน้มที่บริษัทจะมีส่วนแบ่งในตลาด ตัวอย่างเช่น บริษัทขนาดใหญ่หรือขนาดยักษ์มีแนวโน้มที่จะมีรายได้รวมคงที่และผันแปรน้อย ในขณะที่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กอาจจะครองตลาดเพียงส่วนเดียว และมีความผันผวนอย่างมากในเรื่องของราคาหุ้นและรายได้
ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ในขั้นตอนนี้ เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น สำหรับการตรวจสอบอื่นๆ ที่กำลังจะตามมา ซึ่งเมื่อคุณเริ่มพิจารณาถึงรายได้และผลกำไร ขนาดของบริษัทจะช่วยให้คุณมีโลกทัศน์ที่กระจ่างขึ้น
ขั้นที่ 2 รายได้รวม กำไร และแนวโน้มอัตรากำไร
เมื่อเริ่มมองที่ตัวเลข เป็นการดีถ้าหากจะเริ่มต้นด้วย รายได้รวม ผลกำไร และแนวโน้มอัตรากำไร เริ่มจากตัวเลขในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะเป็นยอดรายไตรมาส หรือรายปี รวมทั้งการตรวจดูค่าอัตราส่วนราคาต่อยอดขาย (P/S) และอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) พิจารณาดูแนวโน้มค่าทั้งสองตัวในห้วงเร็วๆ นี้ พร้อมกับจดบันทึกข้อสังเกตการเติบโต อืดอาด หรือสม่ำเสมอ หรือมีการผันผวนขึ้นๆ ลงๆ (เช่น +/- 50% ในปีเดียว)
เราควรจะทบทวนอัตรากำไร ดูว่ามีการเพิ่มขึ้นลดลงเป็นปกติ หรือไม่เปลี่ยนแปลง ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาในขั้นตอนต่อไป
ขั้นที่ 3 ธุรกิจและคู่แข่ง
ถึงตอนนี้ เราจะรู้สึกถึงความเล็กใหญ่ของบริษัทและความสามารถในการทำกำไร ถึงเวลาแล้วที่จะพิจารณาถึงธุรกิจที่ทำอยู่และมีใครอยู่ในสนามแข่งขัน เปรียบเทียบอัตรากำไรของคู่แข่งซักสองหรือสามบริษัท แต่ละบริษัทมักจะมีคู่แข่งที่ต้องแย่งชิงตลาดกันเสมอ ถ้ามีมากกว่าหนึ่งก็ให้ดูบริษัทที่เป็นคู่แข่งหลักในแต่ละธุรกิจ จะช่วยให้เราได้เห็นถึงขนาดความใหญ่ของตลาดสินค้าที่เราสนใจ
นำข้อมูลของบริษัทคู่แข่ง มาทำตารางเปรียบเทียบคู่ไปกับบริษัทเป้าหมาย ถ้าหากยังไม่เข้าใจโมเดลทางธุรกิจของบริษัท ก็จำเป็นต้องค้นคว้าให้ท่องแท้ก่อนจะก้าวขั้นต่อไป บางครั้งการได้อ่านข้อมูลของบริษัทคู่แข่ง จะช่วยเพิ่มความเข้าใจบริษัทเป้าหมายว่าทำธุรกิจอะไรบ้าง
ขั้นที่ 4 ประเมินค่าบริษัททั้งหมด
แล้วก็มาถึงตัวเลขสำคัญP/E, Price/Earnings to Growth Ratio (PEG) และอื่นๆ ของบริษัททั้งที่เป็นเป้าหมายและคู่แข่ง บันทึกข้อแตกต่างสำคัญระหว่างบริษัทคู่แข่งเพื่อการทบทวนในขั้นต่อไป มันเป็นเรื่องปกติที่หากบริษัทคู่แข่งจะกลายเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจในช่วงขั้นตอนนี้ แต่ขอให้เรายึดติดกับบริษัทเป้าหมายจนสิ้นสุดการสอบทานธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็โน๊ตความน่าสนใจของบริษัทคู่แข่ง ที่เราจะมาค้นคว้าต่อในภายหลัง
เราสามารถใช้อัตราส่วนP/E เป็นพื้นฐานในการประเมินค่าเบื้องต้นของบริษัท การประเมินค่าจะใช้ผลกำไรในอดีต ซึ่งก็อาจจะมีการผันผวนไปบ้าง หรืออาจจะใช้การประเมินค่าในปัจจุบัน ที่ช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบกับบริษัทคู่แข่งได้ตรงๆ เราต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่า หุ้นของบริษัทเป้าหมายนั้นมีลักษณะเป็นหุ้นโตเร็วหรือเป็นหุ้นคุณค่า (Growth Stock vs Value Stock) ควบคู่ไปกับการประเมินว่าบริษัทมีความคาดหวังต่อการเติบโตมากน้อยแค่ไหน เป็นการดีที่จะทบทวนรายได้สุทธิย้อนหลังหลายๆ ปี เพื่อให้แน่ใจว่าตัวเลขปัจจุบันมีความถูกต้องใกล้เคียงมากที่สุด
เมื่อดูตัวเลขP/E ก็ต้องพิจารณาคู่ไปกับP/B, Price/Sale และ Enterprise Multiple (= Enterprise Value / EBITDA ; ไม่นำภาษีมาคำนวณ) ตัวเลขเหล่านี้เน้นการประเมินค่าบริษัทในด้านหนี้สิน รายได้ประจำปี และงบดุล แต่เนื่องจากในธุรกิจที่ต่างกันก็จะมีค่าตัวเลขการเงินที่ไม่เหมือนกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเปรียบเทียบบริษัทเฉพาะที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน
ที่สุดแล้ว ก็มาถึงอัตราส่วน PEG (= PE-ratio / Annual EPS Growth) สำหรับการคาดคะเนการเติบโตในอนาคต รวมทั้งการเปรียบเทียบกับผลกำไรในปัจจุบัน หุ้นที่มีค่า PEG ใกล้เคียง 1ถือว่าเหมาะสม ในสภาวะตลาดปกติ
ขั้นที่ 5 ผู้ถือหุ้นใหญ่และการบริหารจัดการ
บริษัทบริหารงานโดยผู้ก่อตั้งหรือเปล่า? หรือว่ามีทีมบริหารที่เปลี่ยนหน้ากันบ่อยๆ? อายุของบริษัทเป็นปัจจัยสำคัญเมื่อพิจารณาในประเด็นนี้ ในขณะที่เริ่มก่อตั้งบริษัทมักจะบริหารงานด้วยสมาชิกครอบครัวของผู้ก่อตั้ง ขอให้ดูรายชื่อกรรมการบริหารบริษัท สืบค้นข้อมูล ดูว่ามีประสบการณ์การบริหารงานเป็นอย่างไร
นอกจากนี้แล้ว ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทหรือไม่ มีสถาบันเข้าถือหุ้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะมีผลต่อปริมาณการซื้อขายหุ้น การถือหุ้นใหญ่ของผู้บริหารเป็นเรื่องดีเนื่องจากจะต้องพยายามอย่างเต็มที่สร้างผลกำไรให้กับบริษัทและส่งผลดีกับตัวเอง
ขั้นที่ 6 พิจารณางบดุล
การพิจารณางบดุลเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันยาว แต่สำหรับการสอบทานบริษัทจะเป็นเพียงการตรวจสอบคร่าวๆ ขอให้ดูงบดุลการเงินรวมเพื่อดูยอดรวมของสินทรัพย์และหนี้สิน, ให้ความสำคัญเป็นพิเศษในระดับเงินสด (ความสามารถในการชำระหนี้สินระยะสั้น) และจำนวนเงินที่เป็นหนี้ระยะยาว การมีหนี้จำนวนมากไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ไม่ดี ขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจมากขึ้นกว่าสิ่งอื่น ธุรกิจบางอย่างมีความจำเป็นอย่างมากต้องใช้ทุนในการดำเนินงาน ในขณะที่บางธุรกิจต้องการเพียงแค่พนักงาน เครื่องไม้เครื่องมือ และความคิดสร้างสรรค์ประดิษฐ์สินค้าใหม่ๆ ขอให้ดูที่สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt/Equity) มีทุนเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจหรือไม่ หลังจากนั้น เราจะนำไปเปรียบเทียบกับบริษัทคู่แข่ง เพื่อให้ได้หุ้นแห่งชัยชนะ
ถ้าตัวเลขในงบดุลของสินทรัพย์รวม หนี้สินรวม และส่วนของผู้ถือหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากปีหนึ่งไปอีกปีหนึ่ง ให้ตรวจสอบหาเหตุผล การอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงิน และบทวิเคราะห์ของผู้บริหารในรายงานประจำไตรมาส / ประจำปีสามารถให้ความกระจ่างในสถานการณ์บางอย่าง บริษัท บริษัทอาจจะกำลังเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ สะสมกำไร หรือหันเหการลงทุนในธุรกิจที่ลู่ทางแจ่มใส สิ่งที่เราได้จากงบดุลจะเพิ่มมุมมองที่ลึกขึ้นหลังจากการตรวจสอบแนวโน้มผลกำไรที่ผ่านมา
ขั้นที่ 7 ราคาหุ้นในอดีต
ที่ขั้นตอนนี้ เป็นการเจาะลงไปว่าหุ้นของบริษัทมีการซื้อขายกันมานานหรือเปล่า การเคลื่อนไหวของราคาในช่วงเวลาสั้นๆ และในระยะยาว ราคาหุ้นวูบวาบหรืออืดอาด สม่ำเสมอและคงที่หรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นกรอบการพิจารณาถึงการสร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งจะผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาในอนาคต หุ้นที่มีการผันผวนอยู่เสมอๆ แสดงให้เห็นว่ามีผู้ถือครองหุ้นช่วงสั้นๆ ทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนเพิ่มขึ้น
ขั้นที่ 8 ความคาดหวัง
นี่คือสิ่งที่พลาดไม่ได้ และต้องการการค้นคว้าเจาะลึกเป็นพิเศษ นักลงทุนควรจะตรวจสอบประมาณการรายได้และผลกำไรของ Consensusในอนาคต แนวโน้มระยะยาวที่จะส่งผลต่อธุรกิจ และรายละเอียดเฉพาะของบริษัทในเรื่อง หุ้นส่วนทางธุรกิจ กิจการร่วมค้า ทรัพย์สินทางปัญญา และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ข่าวสารเกี่ยวกับสินค้า/การบริการจะดึงดูดความสนใจต่อหุ้นของบริษัท และในขณะนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะพิจารณาบริษัทอย่างเต็มที่ด้วยข้อมูลทั้งหมดที่เราได้รวบรวมมาก่อนหน้านี้
ขั้นที่ 9 ความเสี่ยง
การกำหนดหัวข้อนี้เป็นขั้นตอนสุดท้าย ก็เพื่อเน้นความสำคัญของความเสี่ยงที่แฝงอยู่ในการลงทุน ต้องให้แน่ใจถึงความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความเสี่ยงโดยรวมที่มีต่อธุรกิจทั้งเซ็คเตอร์นั้น และความเสี่ยงเฉพาะตัวบริษัท มีกฎหมายหรือกฎระเบียบเฉพาะ หรือเป็นเพียงการบริหารจัดการเฉพาะเป็นครั้งคราวในอดีตสำหรับธุรกิจประเภทนี้ บริษัทมีการลักษณะงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อะไรเป็นความเสี่ยงในระยะยาวเมื่อดำเนินธุรกิจที่มีหรือไม่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นักลงทุนพึงเก็บความคิดเห็นแง่ลบต่อธุรกิจนั้นไว้กับตัวเสมอ วาดภาพเมื่อธุรกิจต้องเผชิญสถานการณ์เลวร้ายสุดๆ จะส่งผลเสียต่อหุ้นอย่างไร